น้ำนมแม่ คือ อาหารที่ดีที่สุดน้ำน
พญ. ศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล
นมแม่ เป็น อาหารกาย เพราะมีสารอาหารครบถ้วน ย่อยง่าย ร่างกายทารกดูดซึมไปใช้ได้ดี
นมแม่ เป็น อาหารใจ เพราะ การให้นมแม่เป็นการสานสายใย สายสัมพันธ์ทางใจระหว่างแม่กับลูก
นมแม่ เป็น อาหารสมอง เพราะ น้ำนมแม่มีสารที่ร่างกายทารกนำไปใช้ในการสร้างเส้นใยประสาทในสมอง และ การที่แม่อุ้มลูกขึ้นดูดนมแม่ เป็นการกระตุ้นประสาทสัมผัส ทั้งทางผิวหนัง ตา หู จมูก ลิ้น ทำให้สมองลูกมีการพัฒนาเชื่อมโยงใยประสาท
การที่คุณแม่จะให้นมแม่ได้สำเร็จ ต้องเริ่มตั้งแต่แรกคลอด ให้ลูกดูดนมแม่เร็วที่สุดหลังคลอด ให้ลูกดูดนมแม่บ่อยๆ และ ดูดอย่างถูกต้อง
คุณแม่หลายๆท่านอาจจะข้องใจว่า”
ในวันแรกๆ ยังไม่รู้สึกคัดเต้านมเลย ให้ลูกดูดแล้วลูกจะได้อะไร” คำตอบคือ “ลูกได้ความอบอุ่นใกล้ชิดกับแม่ แม่ลูกได้ทำความรู้จักกัน และที่สำคัญที่สุดคือ ลูกได้ดูดกระตุ้นเต้านม ให้สร้างน้ำนมแม่”
เต้านมแม่เป็นอวัยวะที่มหัศจรรย์ที่สุด เป็นอวัยวะที่มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงตั้งครรภ์เพื่อเตรียมพร้อมสร้างน้ำนม ไม่ว่าตอนก่อนท้องจะเต้าขนาดใหญ่หรือเล็ก หลังคลอดจะทำหน้าที่ผลิตน้ำนมได้เสมอภาคกันหมด แต่ต้องมีการดูดที่เต้านม เป็นการส่งสัญญาณให้ร่างกายรู้ว่า ลูกคลอดออกมาแล้วนะ มีลูกมาดูดรอน้ำนมอยู่แล้วนะ เริ่มผลิตได้แล้ว การดูดนมแม่บ่อยๆเร็วที่สุดหลังคลอด จึงเป็นการกระตุ้นให้น้ำนมแม่หลั่งออกมา ยิ่งดูดบ่อยน้ำนมจะผลิตออกมายิ่งเร็ว ในช่วงนี้จึงไม่ต้องให้นมผสมหรือน้ำเลย เพราะ จะเป็นการแย่งที่ในกระเพาะอาหารลูก ทำให้ลูกไม่อยากดูดนมแม่ นมแม่จะยิ่งมาช้า หรือไม่มาเลย
นอกจากนี้ การที่ให้ลูกดูดจุกนมยางจะทำให้ลูกติดจุก ติดการไหลเร็วของนมในขวด ทำให้เมื่อไปดูดนมแม่จากเต้าจะร้องหงุดหงิด และหัวนมแม่อาจจะเจ็บเป็นแผลได้ เพราะ ลูกใช้วิธีการดูดจุกนมยางไปดูดนมแม่ คือลูกอ้าปากไม่กว้างและดูดเฉพาะหัวนม น้ำนมแม่จึงไม่ไหล และ แม่รู้สึกเจ็บหัวนม
คุณแม่ก็อาจจะเป็นห่วงอีกว่า “
น้ำนมแม่จะเพียงพอสำหรับลูกหรือ?” ก็ต้องบอกว่า ทารกแรกเกิดครบกำหนดในช่วงวันแรกๆไม่ได้ต้องการน้ำนมอะไรมากมายเลย เพราะ เขามีเก็บสะสมอยู่ในไขมันใต้ชั้นผิวหนังอยู่แล้ว แค่น้ำนมแม่ช่วงแรกๆนี้แหละก็พอแล้ว และลูกยังได้ภูมิต้านทานอีกมากมายในน้ำนมด้วย เมื่อลูกดูดนมแม่ไปเรื่อยๆ น้ำนมก็ค่อยๆสร้างมากขึ้นตามลำดับ จนแม่จะรู้สึกคัดตึงเต้านมหลังจากวันที่3-4 หลังคลอดไปแล้ว
“
แม่ที่ทำงานนอกบ้าน จะให้นมแม่ต่อได้อย่างไร?”
แม่ที่ให้นมแม่อย่างเดียวตลอด เมื่อจะกลับไปทำงานก็ยังให้นมแม่ต่อได้ ถ้าแม่มีความตั้งใจมุ่งมั่นจริง ก็มักจะหาหนทางจนได้ ข้อสำคัญคือ แม่ต้องมีความเชื่อมั่นว่านมแม่คือ อาหารที่ดีที่สุดสำหรับลูก ลูกจะได้ภูมิคุ้มกันจากนมแม่ต่อเนื่อง ทำให้ไม่เจ็บป่วยบ่อย หรือถึงแม้ป่วยก็จะหายเร็ว
ในช่วง 1 เดือนแรกหลังคลอด เป็นช่วงเวลา
ทำให้น้ำนมแม่มีปริมาณมากพอ ให้ลูกดูดนมแม่อย่างเดียวโดยไม่ต้องให้ลูกดูดนมผสมจากขวดเลย
หลังจาก 1 เดือน เริ่มฝึกหัด
บีบนมแม่เพื่อเก็บไว้ให้ลูก แม่ควรบีบน้ำนมแม่เก็บเพื่อคงการสร้างน้ำนมไว้ แม่อาจจะเริ่มฝึกหัดบีบหรือปั๊มนมจำนวนเล็กน้อยทุกวัน เก็บสะสมน้ำนมไว้ในตู้แช่แข็งที่บ้านเป็นเวลาหลายสัปดาห์ก่อนกลับไปทำงาน
เมื่อลูกอายุ 1 ½ เดือน ถึง 2 เดือน2
- ให้อุ้มลูกในท่าที่แม่เคยอุ้มเมื่อให้นมแม่ เช่น อุ้มให้กระชับในท่านอนตะแคงหน้าเข้าหาบริเวณอก หัวสูงเล็กน้อย ถือขวดนมให้จุกนมมาโผล่ใกล้ๆหน้าอกของคนอุ้ม
- ใช้จุกนมที่ค่อนข้างนิ่ม ถ้าเป็นจุกที่มีรูเล็กๆหลายรู จะคล้ายหัวนมแม่มากที่สุด และควรใช้ขวดนมขนาดเล็กก่อนเพื่อให้ถือได้ง่าย
- ทำบรรยากาศให้ผ่อนคลาย นั่งเก้าอี้โยก เปิดเพลงเบาๆหรือทำห้องให้สลัว
- มื้อแรกที่ให้นมจากขวด ควรใช้นมแม่ที่อุ่นพอดีเท่ากับอุณหภูมิร่างกายของแม่ เพื่อให้ลูกคุ้นเคย
- ในช่วงแรกๆอาจให้นมขณะลูกง่วง จะทำให้ต่อต้านน้อยกว่า
เมื่อแม่ไปทำงานแล้ว ( ลูกอายุ 3-4 เดือน ขึ้นไป)
- เช้าก่อนไปทำงาน ให้ลูกดูดนมจากอกแม่ หรือถ้าฝากเลี้ยงที่สถานรับเลี้ยงเด็กก็ให้ดูดนมแม่ที่นั่นก่อนเข้างาน
- เมื่ออยู่ที่ทำงาน ให้บีบน้ำนมออกทุก 3 ชั่วโมง เช่น ตอนสายๆ พักกลางวัน และตอนบ่ายๆ เก็บใส่ถุงเก็บนมแม่แช่ตู้เย็น หรือใส่กระติกน้ำแข็งไว้ เอากลับบ้านมาให้ลูกกินในวันรุ่งขึ้น หรือแช่แข็งเก็บสะสมไว้
- เมื่อถึงบ้านช่วงเย็น อย่าเพิ่งให้พี่เลี้ยงป้อนนมในช่วง 2-3 ชั่วโมงก่อนแม่จะกลับ เพื่อลูกจะได้ดูดนมจากอกแม่ได้เต็มที่ ให้ลูกดูดเต้าตั้งแต่เย็นจนถึงเช้าวันรุ่งขึ้น ทารกบางคนจะนอนนานในช่วงกลางวันที่แม่ไม่อยู่ เพื่อจะตื่นดูดนมแม่บ่อยในช่วงเย็นทดแทน
- ในระหว่างวันหยุดสุดสัปดาห์ ให้ลูกดูดนมแม่จากเต้าทั้งกลางวันและกลางคืน เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำนมในสัปดาห์ต่อไป
การเก็บรักษาน้ำนมแม่
หลังจากบีบน้ำนมแม่ออกมาแล้ว มีระยะเวลาที่จะเก็บรักษาไว้ในตู้เย็นดังตารางต่อไปนี้
นมแม่ |
อุณหภูมิห้อง |
ตู้เย็น (ช่องธรรมดา) |
ตู้เย็น (ช่องแช่แข็ง) |
นมที่บีบเก็บใหม่ๆในภาชนะที่ปิด |
1 ชั่วโมง (ที่ > 25๐ ซ. )
6-8 ชั่วโมง (ที่ < 25๐ ซ. ) |
3-5 วัน (ที่ < 40ซ ) |
2 สัปดาห์ (ตู้เย็นประตูเดียว )
3 -6 เดือน ( ตู้เย็น 2 ประตู )
6 - 12 เดือน (ตู้แช่ไอศครีม ที่ < -20๐ C ) |
นมที่ละลายหลังแช่แข็งแต่ยังไม่ได้อุ่นหรือใช้ (เช่นสำหรับมื้อต่อไป) |
< 4 ชั่วโมง |
24 ชั่วโมง |
ไม่ควรแช่แข็งอีก |
ละลายนอกตู้เย็นในน้ำอุ่น |
ชั่วเวลากิน 1 มื้อ |
4 ชั่วโมง หรือจนถึงมื้อต่อไป |
ไม่ควรแช่แข็งอีก |
นมที่ได้กินบ้างแล้ว |
ชั่วเวลากิน 1 มื้อ |
ทิ้ง |
ทิ้ง |
การเอาน้ำนมแม่แช่แข็งออกมาใช้
1.ควรใช้นมที่บีบเก็บไว้เก่าสุดก่อน
2. ทารกอาจจะดื่มนมแม่ที่ยังเย็นอยู่ หรือ ที่อุณหภูมิห้อง ( 25 องศา C) หรือ นมแม่ที่อุ่นแล้ว
3. ทำให้นมละลายโดยนำมาไว้ในช่องธรรมดาของตู้เย็นในคืนก่อนวันที่จะใช้นม
4. เมื่อจะให้ทารกกินนม นำภาชนะเก็บนมออกจากตู้เย็นเพื่อทิ้งให้หายเย็นหรือนำมาแช่ในหม้อใส่น้ำอุ่น โดยอย่าให้ระดับน้ำในหม้อขึ้นมาถึงปากภาชนะเก็บน้ำนม
5. ไม่ใช้ไมโครเวฟ หรือเตาไฟในการทำให้นมละลายหรืออุ่นนม เพราะจะทำลายสารภูมิต้านทานในน้ำนม และนมที่ร้อนเกินไปอาจลวกปากลูกได้
6. น้ำนมที่ทำให้ละลายแล้วเก็บไว้ในตู้เย็นต้องใช้ภายใน 24 ชั่วโมง แต่ถ้านำออกมาอุ่นนอกตู้เย็นจะต้องใช้ภายใน 4 ชั่วโมง และไม่ควรนำกลับไปแช่แข็งอีก
7. น้ำนมที่บีบเก็บไว้ ไขมันอาจจะแยกชั้นลอยอยู่ จึงต้องเขย่าขวดนมเพียงเบาๆให้ไขมันละลายเป็นเนื้อเดียวกับนมก่อนนำไปป้อนให้ลูก อย่าเขย่าแรงเกินไป
หากคุณแม่ยังคงบีบน้ำนมแม่และให้ลูกดูดเต้าตลอดเวลาที่ได้อยู่ด้วยกัน คุณแม่จะมีน้ำนมให้ลูกไปได้เรื่อยๆ ในช่วง 6 เดือนแรกให้กินแต่นมแม่อย่างเดียว หลังจาก 6 เดือนก็ยังคงให้นมแม่ได้ควบคู่กับอาหารตามวัย ไปจนถึงอายุ 2 ปี หรือนานกว่านั้น การจะให้นมแม่ถึงเมื่อไรก็ขึ้นกับการตัดสินใจของแม่ลูกแต่ละคู่
คุณแม่ทั้งที่อยู่บ้านหรือทำงานนอกบ้านที่ให้นมแม่ได้สำเร็จจะมีความภาคภูมิใจ และมีความผูกพันกับลูกอย่างแน่นแฟ้น ทั้งนี้ก็เพราะ คุณแม่ยังคงเป็น “ หนึ่งเดียวในดวงใจ” สำหรับลูกเสมอ