ถ่ายเหลวเพราะยืดตัว
พญ. ศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล
ดัดแปลงจากต้นฉบับที่เขียนลง รักลูก ฉบับ กุมภาพันธ์ 2532
ตึกสองชั้นเก่าๆหลังนั้น เป็นเสมือนหนึ่งหลักจารึกเหตุการณ์ต่างๆที่ผ่านไปในชีวิตการเตรียมตัวเป็นแพทย์ของหมอนภาเพ็ญ
ความจริงมันก็เป็นเพียงตึกคนไข้หลังหนึ่งในหลายๆหลัง……แต่มีความพิเศษในตัว …..ดูขรึมขลัง และศักสิทธิ์ หมอเพ็ญยอมรับว่ารู้สึกหวั่นๆเสียด้วยซ้ำในวันแรกๆที่ต้องเดินไปรับคนไข้ในยามดึกเพียงลำพัง
ตึกนี้เป็นตึกสองชั้นสำหรับรับคนไข้เด็กที่เป็นโรคติดเชื้อ ชั้นล่างสำหรับเด็กโต ชั้นบนสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ดังนั้นตึกนี้จึงมีการหมุนเวียนของคนไข้เข้าออกจำนวนมากที่สุดในแต่ละวัน …..มีคนงานเข็นเปลเข้ามาส่งคนไข้ …..พยาบาลอุ้มเด็กที่มีสายน้ำเกลือระโยงระยางเดินขึ้นบันไดไปชั้นบน …..นักศึกษาแพทย์เดินกันขวักไขว่ เสื้อกาวน์ปลิว เพื่อรีบไปเจาะเลือดทำแล็บบ้าง ซักประวัติคนไข้บ้าง ….อาจารย์พานักศึกษาแพทย์กลุ่มย่อยเดินดูคนไข้ตามเตียง สาธิตวิธีตรวจผู้ป่วย
ความเคลื่อนไหวต่างๆเหล่านี้ทำให้ตึกเก่าๆหลังนี้มีชีวิตชีวา
เมื่อนภาเพ็ญเป็นนักศึกษาแพทย์ที่ผ่านภาควิชากุมารเวชศาสตร์เป็นครั้งแรก อาจารย์พามาสาธิตการให้น้ำเกลือเข้าเส้นที่ตึกนี้ ตอนนั้นเพ็ญรู้สึกทึ่งกับวิธีการให้น้ำเกลือเด็กเล็กที่นี่ เพราะ ให้เข้าทางเส้นเลือดดำที่บริเวณหนังศีรษะ!
พยาบาลจะเอาผ้าห่อหุ้มลำตัวเด็กอย่างแน่นหนา ไม่ให้กระดุกกระดิก โผล่ออกมาเฉพาะหัว เอามือจับหัวให้มั่นคง โกนผมจนเห็นเส้นชัดเจนแล้วอาจารย์จึงบรรจงลงมือเอาเข็มแทงเข้าไปในเส้นอย่างนิ่มนวล โดยใช้คีมที่เป็นตัวหนีบจับเข็มค่อยๆสอยเข้าไป ถ้ามือหนักไปนิดหรือแทงแรงไปหน่อย เข็มก็จะออกนอกเส้น ดังนั้นงานนี้จึงต้องใช้ประสบการณ์ประสานกับความใจเย็น จึงจะทำได้สำเร็จ
เมื่อผ่านมาเป็นแพทย์ฝึกหัดที่เรียกว่า อินเทิร์นที่หมุนเวียนมาประจำตึกนี้ หมอเพ็ญก็ได้ฝึกการให้น้ำเกลือเด็กเล็ก หลังจากทำหน้าที่สั่งการรักษาคนไข้ตามปกติแล้ว อินเทิร์นยังมีหน้าที่แทงน้ำเกลือเข้าเส้นคนไข้ทุกคนที่ให้น้ำเกลือด้วย…….ทุกคนบ่นกันอุบ เพราะคนไข้ไม่ใช่คนสองคน แต่เป็นสิบๆ ดังนั้นตลอดช่วงเช้าหลังจากดูคนไข้แล้ว ก็ต้องมานั่งหลังขดหลังแข็งแทงน้ำเกลือกันอยู่นั่น…..คนสุดท้ายเสร็จ….อ้าว! คนแรกน้ำเกลือหลุดเสียแล้ว กลับมาแทงใหม่อีกรอบ…..
ต่อเมื่อนภาเพ็ญจบการฝึกเป็นแพทย์ฝึกหัด จึงตระหนักว่า ชั่วโมงแล้วชั่วโมงเล่าที่เสียไปในการนั่งแทงน้ำเกลือนั้น ไม่ได้เสียไปโดยเปล่าประโยชน์ เพราะยามฉุกเฉินความชำนาญอันนี้จะช่วยชีวิตคนไข้ไว้ได้
เย็นวันนั้นเป็นวันลอยกระทง หมอเพ็ญอยู่เวรห้องฉุกเฉิน ดังนั้นหลังจากดูคนไข้รอบเย็นแล้วจึงแวะไปรับวิทยุติดตามตัวใส่กระเป๋าไว้ พบกับหมอศุภพร ซึ่งหลังจากจบแพทย์ฝึกหัดก็ได้เป็นแพทย์ประจำบ้านแผนกสูติกรรม
“ วันนี้อยู่เวรเหมือนกันหรือ? .” เพ็ญถาม
“ จ้ะ เดี๋ยวเราแวบไปดูขบวนแห่กระทงกันก่อนไหม แล้วค่อยไปกินข้าวเย็นกัน” ศุภพรชวน
ขบวนแห่กระทงจัดกันอย่างสวยงาม กระทงใบใหญ่ตกแต่งด้วยดอกไม้บ้าง ผัก ผลไม้ บ้าง ล้วนทำอย่างวิจิตรบรรจง ขบวนนางนพมาศตัวน้อยๆ แต่งชุดไทย นุ่งโจงกระเบน มุ่นผมมวย มีพวงมาลัยดอกไม้สดรัดเอาไว้ ทุกคนเดินด้วยความตั้งอกตั้งใจ ดูน่ารักน่าเอ็นดูเป็นที่สุด
“วันนี้อยู่เวร อย่าไถลนาน เดี๋ยวจะถูกตามเสียก่อน”
“ จริงด้วยไปกันเถอะ “ เพ็ญตอบ แต่พูดยังไม่ทันขาดคำ
“ ปิ๊บ…ปิ๊บ…ปิ๊บ..” ทั้งคู่คว้าวิทยุของตัวเองขึ้นมาฟัง เพราะต่างก็นึกว่าเป็นของตัวเอง
“ เสียงลูกเธอร้องต่างหาก แหม! ร้องแต่หัววันเชียว “ ศุภพรกล่าว
พวกเรามักจะเปรียบวิทยุตามตัวว่าเป็น “ลูก” ก็เพราะ ถ้าร้องแต่ละที เราจะต้องหยุดทำอะไรทุกอย่าง รีบหันมาฟังว่าถูกบัญชาให้ไปที่ไหน และทำอะไร ซึ่งก็เหมือนกับ “ ลูกอ่อน” เราดีๆนี่เอง !
“ ฉันไป E.R. ก่อนนะ “ เพ็ญหมายถึงห้องฉุกเฉิน และรีบเดินแยกทาง เดินตรงไปยังจุดหมาย
“หมอเข้ามาข้างในเลยค่ะ ….. เด็กท้องเสียมาก “ พยาบาลประจำห้องฉุกเฉินส่งเสียงเรียก
หมอนภาเพ็ญเดินเข้าไปในห้องให้การรักษาด้านใน มีเด็กชายอายุประมาณ 3-4 เดือนนอนอยู่บนเตียง แพทย์ฝึกหัดกำลังพยายามแทงน้ำเกลือให้ ดูจากลักษณะภายนอก เพ็ญบอกได้ทันทีว่าเด็กอยู่ในสภาพขาดน้ำ กระหม่อมหน้าซึ่งปกติจะเต็มพอดีๆ ดูบุ๋มลึกลงไปจนเห็นขอบรอยต่อกระโหลกศีรษะ ดวงตาเด็กซึ่งปกติจะแจ่มใส กลับดูลึกโบ๋ ริมฝีปากแห้ง เมื่อจับผิวหนังยกขึ้น จะตั้งอยู่สักครู่ก่อนจะกลับสู่สภาพเดิม ชีพจรเร็ว มือเท้าเริ่มเย็น
“ มาให้พี่แทงให้ดีกว่า โกนหัวตรงนี้อีกหน่อยค่ะ” เพ็ญบอกพยาบาล
เมื่อพิจารณาดูเส้นเลือดที่หนังศีรษะ ที่คดเคี้ยวประหนึ่งเส้นแม่น้ำในแผนที่ เพ็ญเลือก เอาเส้นที่ตรงที่สุด เพื่อจะได้ให้น้ำเกลือได้สะดวก
โชคดีที่แทงครั้งเดียวก็ได้
“ มือโปรมาเอง มีหรือจะแทงไม่ได้” พยาบาลเย้า
“ กำลังคิดในใจว่า ถ้าแทงไม่ได้จะต้อง cut down แต่คิดอย่างนี้ทีไร เป็นแทงได้ทุกที”
Cut down คือ การใส่สายน้ำเกลือเข้าไปในเส้นเลือดโดยตรง จะทำในกรณีช็อค หรือหาเส้นแทงไม่ได้
หมอเพ็ญให้น้ำเกลือฉีดเข้าเส้นโดยเร็วในระยะแรกก่อน เพราะเด็กต้องการสารน้ำทดแทนอย่างเร่งด่วน สักครู่ใหญ่ เมื่อเด็กเริ่มดีขึ้นจึงให้ย้ายไปรักษาที่ตึกผู้ป่วยโรคติดเชื้อ
เมื่อรถเข็นผู้ป่วยถูกเข็นพ้นประตูห้องฉุกเฉิน แม่เด็กก็ถลาเข้ามาหา
“ เป็นยังไงบ้าง หมอ ลูกของหนูจะเป็นอะไรไหม “ ผู้เป็นแม่ถาม น้ำตาคลอ
“ ตอนนี้ให้น้ำเกลืออยู่ ดีขึ้นกว่าตอนแรกแล้วค่ะ เดี๋ยวคุณแม่เดินตามเข้าไปที่ตึกนะคะ หมอจะได้ซักประวัติด้วย “
พยาบาลอุ้มเด็กน้อยขณะที่ผู้ช่วยถือขวดน้ำเกลือยกสูงเหนือศีรษะ มีหมอและแม่เด็กเดินตามมาเป็นขบวนขึ้นไปชั้นบนของตึก ซึ่งดูไม่คึกคักเหมือนเวลากลางวัน
หมอมนัสแพทย์ฝึกหัดประจำตึกรับหน้าที่ดูแลผู้ป่วยต่อ ขณะที่หมอเพ็ญคุยกับแม่เด็กที่โต๊ะ
“ ท้องเสียมากี่วันแล้วคะ?”
“เพิ่งเป็นเมื่อวานนี้เองค่ะ คุณป้าข้างบ้านที่หนูไปฝากเขาเลี้ยงไว้บอกว่า เด็กกำลังจะเปลี่ยนท่า ยืดตัวก็มีท้องเสียแบบนี้ เลยไม่ได้พามาหาหมอ โธ่! ไม่น่าเป็นเร็วขนาดนี้เลยนะคะ” แม่เด็กซึ่งอายุคงจะประม่าณยี่สิบเล่าให้ฟัง
“ คุณแม่อาจจะเข้าใจไม่ถูกต้องค่ะ ท้องเสียไม่ได้เกิดจากเด็กเปลี่ยนท่า เพียงแต่เผลิญมาเกิดในเวลาเดียวกันเท่านั้นเอง เด็กในขวบปีแรกมีการเปลี่ยนแปลงทุกเดือนล่ะค่ะ ช่วงที่ท้องเสียก็อาจจะไปตรงกับการเปลี่ยนท่าของเขาพอดี โดยไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกัน “ หมอนภาเพ็ญอธิบาย แล้วถามต่อว่า
“ ลักษณะอุจจาระเป็นอย่างไร และถ่ายกี่ครั้งคะ?”
“ อุจจาระพุ่งออกมาเป็นน้ำเมื่อวานนี้ 3-4 ครั้ง ครั้งละไม่มาก หนูก็วางใจ เมื่อเช้าเอาไปฝากป้าเลี้ยง หนูไปทำงาน กลับมาอีกทีตอนเย็น ป้าบอกว่าถ่ายอีกร่วม 10 ครั้ง อาเจียนด้วย หนูรีบพามาโรงพยาบาล อุ้มลูกยังมือสั่นไปหมด รถก็ติดเหลือเกิน “
.” ก่อนท้องเสีย เขาสบายดีหรือคะ?”
“ ไม่ค่ะ น้ำมูกใสๆไหลบ้าง แต่ตัวไม่ร้อน”
“ แล้วลูกกินนมอะไรคะ ขวดนมทำความสะอาดอย่างไร? “
“ กินนมผงเด็กอ่อนค่ะ ขวดนมลวกน้ำร้อนทุกครั้งเลยค่ะ” “
“ ไม่พอค่ะ ขวดนมต้องต้มน้ำเดือด10 นาที ทั้งฝาและจุกนมด้วย หรือจะใช้ที่นึ่งอาหารก็ได้ ถ้าขวดนมไม่สะอาดลูกจะติดเชื้อโรคได้ง่าย “
เพ็ญซักประวัติอื่นๆเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย
“ คุณหมอช่วยรักษาเต็มที่นะคะ แกเป็นลูกคนแรก ใจหนูอยากจะเลี้ยงเองให้โตกว่านี้อีกหน่อย แต่ถ้าลาออกจากงานตอนนี้กลัวเขาจะไม่รับกลับเข้าอีก งานยิ่งหายากๆอยู่”
เพ็ญรู้สึกเห็นใจคุณแม่วัยรุ่นคนนี้มาก ชีวิตในกรุงเทพฯทำให้แม่ต้องออกจากบ้านไปทำงาน ฝากลูกให้คนอื่นเลี้ยง แต่ใครเล่าจะดูแลเด็กได้ดีเท่าแม่ หรือญาติผู้ใหญ่ที่ไว้ใจได้
“ คุณแม่ทำใจเย็นๆค่ะ อาการแกดีดีขึ้นบ้างแล้ว พรุ่งนี้เช้ามาเยี่ยมใหม่นะคะ”
แม่เด็กยกมือไหว้หมอ เดินไปเยี่ยมหน้าดูลูกก่อนจะลงจากตึก
เพ็ญเดินไปถามหมอมนัส ซึ่งกำลังตรวจอุจจาระอยู่ในห้องแล็บ
“ อุจจาระของเด็กรับใหม่มีอะไรไหม?”
“เป็นน้ำเลยครับ ไม่มีมูก ตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ดูก็ไม่พบเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว “ มนัสตอบฉะฉาน
“ พี่คิดว่าเด็กรายนี้ท้องเสียจากเชื้อไวรัส ทั้งจากประวัติ และการตรวจอุจจาระ”
“ หน้าหนาวพบท้องเสียแบบบนี้เยอะนะครับ แม่เด็กน่าจะรีบพามาเร็วกว่านี้”
“ นั่นน่ะสิ สมัยนี้มีน้ำเกลือให้กินทดแทนน้ำ และเกลือแร่ที่เสียไปทางอุจจาระแล้ว ให้ในรายที่เพิ่งเริ่มเป็นหรือเป็นไม่มาก เอ้อ! ถ้าหาซื้อน้ำเกลือไม่ได้ จะทำเองได้ไหม ถามลองภูมิเสียหน่อย “ เพ็ญเห็นท่าทางกระตือรือร้นของหมอรุ่นน้อง ทำให้อดคุยต่อไม่ได้
“ ง่ายมากครับ เอาน้ำเปล่า 1 ขวดน้ำปลา ต้มให้เดือด ใส่เกลือแกงครึ่งช้อนชา น้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ ทิ้งไว้ให้เย็น กินแทนนมไปก่อนใน 4-6 ชั่วโมงแรก หลังจากนั้นให้กินนมแม่ต่อ หรือกินนมผสมเจือจาง”
“ ดีมาก อินเทอร์นตึกนี้ต้องคล่องเรื่องนี้ แล้วถ้าเด็กโตหน่อยล่ะ เช่น อายุ มากกว่า 6 เดือน จะงดข้าวเลย หรือให้เริ่มเมื่อไร?” เพ็ญถามต่อ
“ ไม่ควรงดอาหารหลายวันครับ ถ้าให้อาหารเร็วจะช่วยกระตุ้นน้ำย่อยให้กลับเป็นปกติได้เร็วกว่า ก็เริ่มต้นด้วยข้าวต้มใสๆก่อน หลังจากกินน้ำเกลือ 4 – 8 ชั่วโมงแรกแล้ว”
“ อย่าลืมแนะนำแม่เด็ก ก่อนให้กลับบ้านด้วยนะ น่าภูมิใจจริงๆทีมีน้องเก่งและขยันแบบนี้ “ เพ็ญชมจนหมอมนัสยิ้มเขินๆ ขอตัวไปทำงานต่อ
หมอเพ็ญเดินลงบันไดตึก ซึ่งเป็นแบบโบราณ มีราวเป็นไม้หนาสีน้ำตาลเข้มดูแข็งแรงทนทาน บันไดนี้ได้นำนักศึกษาแพทย์และแพทย์คนแล้วคนเล่าขึ้นลงจากตึก เพื่อศึกษาหาความรู้ความชำนาญในการรักษาคนไข้ นภาเพ็ญเองได้ประสบการณ์มากมายภายใต้หลังคาตึกนี้ จึงมีความรู้สึกผูกพันลึกๆในใจกับตึกหลังนี้มาตลอด หลายปีต่อมา ถึงแม้ตึกจะถูกรื้อลงเพื่อสร้างตึกใหม่ที่ทันสมัยกว่าเดิม แต่ภาพความเคลื่อนไหว และชีวิตชีวาของตึกนี้ได้ตรึงอยู่ในใจเพ็ญจนยากจะลบเลือนเสียแล้ว |